ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (86): รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

เศรษฐศาสตร์.jpg1

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นับเป็นรัฐประหารครั้งที่หกในรอบ 38 ปี หากนับตามรัฐประหารครั้งก่อนหน้า อันได้แก่ รัฐประหารมิถุนายน พ.ศ. 2476, รัฐประหารพฤศจิกายน พ.ศ. 2490, รัฐประหารพฤศจิกายน พ.ศ. 2494, รัฐประหารกันยายน พ.ศ. 2500 และรัฐประหารตุลาคม พ.ศ. 2501

นอกจากรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จะเป็นรัฐประหารครั้งที่หกแล้ว ยังเป็นการรัฐประหารที่เรียกว่า “รัฐประหารตัวเอง” ด้วย และหากนับการรัฐประหารที่เป็นการทำรัฐประหารตัวเอง รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นับเป็นการทำรัฐประหารตัวเองครั้งที่ 2 ในรอบ 38 ปี โดยครั้งแรกคือ รัฐประหารพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร  ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อและยศเหมือนตัวเองเช่นกัน รัฐประหารตัวเองครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อาจารย์ชัยอนันต์เรียนจบปริญญาเอกและกลับมาเมืองไทยได้ 3 เดือน ตอนนั้น อาจารย์ยังไม่ได้มาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่สอนที่สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์หรือนิด้า เรียกว่าอาจารย์ชัยอนันต์เป็นดอกเตอร์หมาดๆ ที่ยังหนุ่มมาก อายุเพียง 27 ปีเท่านั้น สมัยนั้นยากที่จะหาคนจบปริญญาเอกด้วยอายุเพียง 27 ถ้าจะมีใครเกทับเรื่องจบปริญญาเอกเร็วก็น่าจะได้แก่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่จบปริญญาเอกมาด้วยอายุเพียง 26 ปี เฉือนอาจารย์ชัยอนันต์ไปเพียงปีเดียว

แต่ถ้าใครนึกสนุกอยากจะเรียงลำดับอายุที่จบปริญญาเอกตั้งแต่ 26 – 27- 28 ของนักวิชาการปัญญาชนไทย ก็น่าจะได้แก่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ (26) อาจารย์ชัยอนันต์ (27) และศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะอาจารย์บวรศักดิ์จบปริญญาเอกกฎหมายจากฝรั่งเศสตอนอายุ 28

แต่ถ้านับอาจารย์นักวิชาการรุ่นใหม่หน่อย (คือใหม่กว่าทั้งสามท่านที่กล่าวมา) ก็จะพบว่า มีผู้ทำลายสถิติการจบปริญญาเอกไปแล้วอย่างน้อยท่านหนึ่ง ด้วยอายุเพียง 25 ปี และแถมยังจบปริญญาเอกด้านกฎหมายมาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Ivy Plus (Ivy Plus จะมีจำนวนมหาวิทยาลัยชั้นนำมากกว่า Ivy League) และผู้ที่จบปริญญาเอกกฎหมายจากสแตนฟอร์ดด้วยอายุเพียง 25 นี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก
ส่วนตัวผมจบปริญญาเอกมาก็อายุปาเข้าไป 33 แล้ว
เมื่อพูดถึงอายุ 33 จะพบว่า หลังจากที่อาจารย์ชัยอนันต์จบปริญญาเอกอายุ 27 ปี ต่อมาเพียงไม่กี่ปี ท่านก็ได้ศาสตราจารย์โดยใช้เวลาเร็วมาก นั่นคือ ท่านเป็นศาสตราจารย์ตอนอายุราวๆ 33-35 เท่านั้น ส่วนตัวผมเป็นศาสตราจารย์ก็ปาเข้าไปห้าสิบกว่าแล้ว

เมื่อพูดถึงคนที่เป็นศาสตราจารย์เร็ว ทำให้ผมอดนึกถึงนักวิชาการและนักการเมืองชาวอังกฤษท่านหนึ่งไม่ได้ บุคคลที่ว่านี้ชื่อ อินอค พาวเวล (Enoch Powell) ในปี ค.ศ. 1937 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษากรีกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ด้วยอายุเพียง 25 ปี ขนาดได้เป็นศาสตราจารย์ด้วยวัยเพียง 25 ปี เขายังรู้สึกเสียดายที่ได้ช้าไปหน่อย เพราะเขาตั้งใจจะได้ศาสตราจารย์ก่อนอายุ 24 ด้วยซ้ำ เพราะคู่แข่งในใจของเขาคือ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่เป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษากรีก-ละตินตั้งแต่อายุเพียง 24 นักปรัชญาชาวเยอรมันที่ได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 24 ที่ว่านี้คือ ฟรีดริช นีทเชอ (หรือที่ออกเสียงแบบไทยๆว่า นิทเช่)

แม้ว่า อินอค พาวเวล จะเป็นศาสตราจารย์ช้ากว่านิทเช่ แต่เขาน่าจะดีใจที่กว่าเขาจะจากโลกไปก็อายุ 86 ในขณะที่นิทเช่เสียชีวิตไปตั้งแต่อายุ 56 ปี

กลับมาที่รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เมื่อเกิดรัฐประหาร ดอกเตอร์หนุ่มทางรัฐศาสตร์อายุ 27 อย่างอาจารย์ชัยอนันต์มีปฏิกิริยาอย่างไร ?

อาจารย์เล่าไว้หนังสือชื่อ “ชีวิตที่เลือกได้” ว่า “ตัวผมเองกำลังเดินไปสู่อนาคตทางราชการในยุคพัฒนาประชาธิปไตยที่หนทางดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ผมอายุเพียง 27 ปี มีปริญญาเอก มี ‘คอนเนกชัน’ และกำลังมีพลัง……พ่อผมกำลังก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ เพื่อนฝูง….กำลังใหญ่โต ผมพบกับทางเลือกที่ผมเลือกยืนอยู่ตรงข้ามกับกลุ่มอำนาจที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ”
ที่อาจารย์ชัยอนันต์กล่าวถึงการมี “คอนเนกชัน”นั้น เพราะที่บ้านอาจารย์สนิทสนมกับศาสตราจารย์ ดร. มาลัย หุวะนันท์ ผู้ซึ่งเป็นอธิการบดีนิด้า สถาบันที่อาจารย์ชัยอนันต์ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ขณะนั้น ที่ว่าสนิทสนม เพราะคุณหญิงอุบล หุวะนันท์ กับคุณแม่ของอาจารย์เป็นสมาชิกไพ่ตองวงเดียวกัน คุณพ่ออาจารย์ชัยอนันต์ (พลตำรวจตรี ชนะ สมุทวนิช) ก็สนิทสนมกับอาจารย์มาลัยด้วย แถมรุ่นลูกของทั้งสองครอบครัว อาจารย์ชัยอนันต์เป็นเพื่อนกับ ดร. อุมา สุคนธมาน บุตรสาวของอาจารย์มาลัยและอาจารย์อุบล
ขณะเดียวกัน ที่คุณพ่ออาจารย์ยังมีเพื่อนชื่อ พล.ต.ฉลาด หิรัญศิริ (พลเอก ในเวลาต่อมา) ซึ่งเป็นนายทหารที่กำลังมีบทบาทสูงและเป็นบุคคลสำคัญในคณะรัฐประหารด้วย

ท่านอาจารย์มาลัยและนักวิชาการคนอื่นๆ ได้เข้าไปช่วยงานของคณะรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 นอกจากอาจารย์มาลัยแล้ว ยังมี ดร.ชุบ กาญจนประกร รองอธิการบดีนิด้า ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหนุ่ม และอาจารย์มาลัยเองก็อยากจะดึงอาจารย์ชัยอนันต์เข้าไปช่วยงานด้วย แต่หลังรัฐประหารเพียงหนึ่งวัน อาจารย์ชัยอนันต์ได้ใส่สูท สวมแขนทุกข์ดำไปทำงานที่นิด้า และบอกใครต่อใครอย่างเปิดเผยว่า อาจารย์ไว้ทุกข์ให้กับเพื่อนชื่อ ‘รัฐธรรมนูญ’ ซึ่งถูกรถถังทับตายเมื่อคืนวาน !

เศรษฐศาสตร์.jpg1

เมื่ออาจารย์เปิดเผยจุดยืนที่มีรัฐประหาร อาจารย์มาลัยจึงไม่กล้าชวน ได้แต่บอกกับคุณพ่อของอาจารย์ว่า เสียดาย

นอกจากอาจารย์มาลัย อาจารย์ชุบ อาจารย์ไพจิตรแล้ว อาจารย์ชัยอนันต์ยังเล่าว่าที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ขณะนั้น อาจารย์หลายท่านมี “คอนเนกชัน” กับทหารมาก เพราะไปสอนให้ทหารบกที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก อาทิ ศาสตราจารย์จรูญ สุภาพและศาสตราจารย์ ดร. กมล สมวิเชียร จะสนิทกับ พล.ต.ฉลาด หิรัญศิริ ศาสตราจารย์ ดร. กระมล ทองธรรมชาติสนิทกับ พล.ท. แสวง เสนาณรงค์

ขณะเดียวกัน นักวิชาการส่วนใหญ่ที่นิด้าที่กำลังเติบโตทางวิชาการก็ได้เข้าร่วมขบวนที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า หลังรัฐประหาร ได้มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเข้าไปช่วยงานคณะรัฐประหาร ที่อาจารย์ชัยอนันต์ใช้คำว่าไป “ช่วยชาติ”

แต่ถ้ามี ก็อาจจะถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองได้

ส่วนอาจารย์ชัยอนันต์เป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐประหาร และได้คบคิดกับเพื่อนนักวิชาการและนักธุรกิจอีกสองคนเป็นแกนนำร่างแถลงการณ์และล่ารายเซ็นนักวิชาการเพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร เพื่อนนักวิชาการที่ว่านี้คือ ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนเพื่อนนักธุรกิจคือ คุณอากร ฮุนตระกูล นักเรียนเก่าอังกฤษที่ขณะนั้นทำงานธนาคารอยู่ (ต่อมาได้เป็นเจ้าของโรงเรียนอิมพีเรียล) โดยอาจารย์ชัยอนันต์ตั้งใจว่า จะไปขอให้อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ร่วมเซ็นด้วย

แต่ไปๆ มาๆ อาจารย์ชัยอนันต์ยอมรับว่า มีความกลัวมากกว่าความกล้า จึงล้มการร่างแถลงการณ์และล่ารายชื่อไป ซึ่งอาจารย์บอกว่า ความกลัวของท่านมีข้อดี คือ ทำให้เพื่อนทั้งสองไม่โดนจับ เพราะถ้าออกแถลงการณ์ ต้องโดนจับแน่ เพราะเพื่อนคนหนึ่งของอาจารย์ชัยอนันต์ที่ชื่อ อาจารย์สุวิชา วรวิเชียรวงศ์ ผู้เป็นลูกชายของ พ.ต.อ. สุธรรม วิเชียรวงศ์ ผู้ใกล้ชิดกับ พล.ท. แสวง เสนาณรงค์ ยืนยันว่า อาจารย์ชัยอนันต์และคนที่ลงชื่อจะต้องถูกจับอย่างแน่นอน

อาจารย์ชัยอนันต์ยังออกตัวด้วยว่า ทหารสมัยโน้นกับสมัยนี้ต่างกัน สมัยโน้น การประท้วงรัฐประหาร “เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนกล้าทำ เพราะอำนาจของทหารในยุคยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมานั้น อย่าว่าแต่คนเลย หมาก็ยังวิ่งหนีหางจุกตูด”

แต่ตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2549 จนถึงรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง มีคนกล้าออกมาประท้วงรัฐประหารมากขึ้น และน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐประหารในการเมืองไทยจึงไม่น่าจะมีอนาคตอีกต่อไป ยิ่งการทำรัฐประหารตัวเองด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีทาง